การประเมินความเสี่ยงการทุจริต (ศอตช.)

ที่มา

                    คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๔ เมษายน ๒๕๖๐ รับทราบมติคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ในการประชุม คตช. ครั้งที่ ๑/๒๕๖๐ เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม ๒๕๖๐ ที่เสนอให้รัฐบาลประกาศให้ “ปี ๒๕๖๐ เป็นปีแห่งการอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุมัติอนุญาตของทางราชการต่อต้านการรับสินบนทุกรูปแบบ” ตามที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) เสนอ สืบเนื่องจากองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International) ได้ประกาศผลคะแนนดัชนีการรับรู้การทุจริต (Corruption Perceptions Index : CPI) ประจำปี ๒๕๕๙ 
เมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๐ ประเทศไทยได้รับคะแนน ๓๕ คะแนน อยู่ในลำดับที่ ๑๐๑ จากประเทศที่เข้าร่วมประเมินทั้งหมด ๑๗๖ ประเทศ ลดลงจากปี ๒๕๕๘ ซึ่งประเทศไทยมีคะแนน ๓๘ คะแนน อยู่ในลำดับที่ ๗๖ จากประเทศที่เข้าร่วมประเมิน ๑๖๘ ประเทศ ผลคะแนนพบว่า แหล่งการประเมินที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกทางธุรกิจมีคะแนนลดลงอย่างมากในปี ๒๕๕๙ ประเทศไทยมีแหล่งการประเมินที่คะแนนลดลงทั้งหมด ๔ แหล่งการประเมิน คือ GI (๒๒ คะแนน)
WEF (๓๗ คะแนน) PERC (๓๘ คะแนน) และ EIU (๓๗ คะแนน) โดยแหล่งการประเมินที่มีคะแนนลดลงมากที่สุด คือ GI (-๒๐ คะแนน) รองลงมาคือ WEF (-๖ คะแนน) ซึ่งเป็นแหล่งการประเมินที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์ว่าภาคธุรกิจเกี่ยวข้องกับการทุจริตมากน้อยเพียงใด และการสำรวจจากนักธุรกิจที่เข้ามาลงทุนในประเทศว่าภาคธุรกิจต้องจ่ายเงินสินบนในกระบวนการต่าง ๆ มากน้อยเพียงใด

                     สำนักงาน ป.ป.ท. เป็นกลไกของฝ่ายบริหารและในฐานะเป็นฝ่ายเลขานุการของ ศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) ได้เล็งเห็นว่าการป้องกันและแก้ไขปัญหาการทุจริต เป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วน จึงมีนโยบายขับเคลื่อนทั้งหน่วยงานภาครัฐ และภาคธุรกิจเอกชน โดยวางระบบการประเมินความเสี่ยงการทุจริตและมาตรการป้องกันความเสี่ยงการทุจริต เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนธรรมาภิบาลและยกระดับค่าคะแนน CPI

เอกสารดาวน์โหลด