ความเป็นมา ไทยเฝ้าระวัง

                      เมื่อต้นปี พ.ศ. 2563 มีการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ขึ้นทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย ซึ่งมีหน่วยงานภาครัฐได้ใช้จ่ายงบประมาณเพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดและช่วยเหลือประชาชน แต่เนื่องจากปรากฏข่าวว่ามีหน่วยงานของรัฐบางแห่งทำการจัดซื้อจัดจ้างไม่โปร่งใส ด้วยเหตุนี้สำนักงาน ป.ป.ท. จึงร่วมกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจสอบ ติดตาม เฝ้าระวังในการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐ ซึ่งพบข้อสังเกตเบื้องต้นว่าหน่วยงานบางแห่งยังมีการจัดซื้อจัดจ้างไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์หรือระเบียบของทางราชการ และส่อไปในการกระทำที่เป็นการทุจริตและประพฤติมิชอบ

                     ต่อมามีการประกาศใช้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้กระทรวงการคลังมีอำนาจกู้เงินหรือออกตราสารหนี้ในนามรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยที่มีมูลค่ารวมกันไม่เกินหนึ่งล้านล้านบาท โดยต้องลงนามในสัญญากู้เงินหรือออกตราสารหนี้ภายในวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2564 โดยกำหนดให้ใช้จ่ายเงินกู้ในแผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 45,000 ล้านบาท แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกรและผู้ประกอบการ ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 555,000 ล้านบาท และแผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จำนวน 400,000 ล้านบาท
                โดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ได้ออกแถลงการณ์ ให้ประเทศสมาชิก OECD มีความระมัดระวังในการใช้จ่ายงบประมาณแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จึงขอให้ทุกประเทศมีมาตรการป้องกันความเสี่ยงการทุจริตในการใช้จ่ายงบประมาณในเรื่องดังกล่าว ประเทศไทยถึงแม้จะไม่ได้เป็นสมาชิกของ OECD แต่ปัญหาการทุจริตในการใช้จ่ายงบประมาณก็ถือว่าเป็นปัจจัยความเสี่ยงที่ต้องมีการเฝ้าระวังเช่นเดียวกัน
                       สำนักงาน ป.ป.ท. ในฐานะกลไกของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ และฝ่ายเลขานุการของ ศอตช. ได้เสนอกลไกเฝ้าระวังการใช้จ่ายงบประมาณตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบ จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 ใน 4 ด้าน คือ
                 1) การเฝ้าระวังและแจ้งเบาะแส 
                 2) การป้องกันและลดโอกาสการทุจริต 
                3) การตรวจสอบ 
                4) การดำเนินมาตรการทางปกครอง วินัย อาญา