ถึงเวลา ตรวจสอบเงินกู้ สู้โควิด

12 Jul 2020 12:00 น.

ถึงเวลา ตรวจสอบเงินกู้ สู้โควิด : คอลัมน์ ถอดสูตรคุย โดย บรรทัดเหล็ก หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,591 หน้า 10 วันที่ 12 - 15 กรกฎาคม 2563

                   นับถอยหลังอีกไม่นานการอัดฉีดเงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ภายใต้กรอบวงเงิน 4 แสนล้านบาท ตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท กำลังจะเริ่มต้นขึ้น หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2563 มีมติเห็นชอบผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ชุดที่มีเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นประธานจำนวน 5 โครงการ วงเงินรวม 15,520.096 ล้านบาท ประกอบด้วย

                    1. โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วงเงิน 9,800 ล้านบาท เป็นการฝึกอบรมเกษตรกรเกี่ยวกับเกษตรทฤษฎีใหม่ และการเพิ่มพื้นที่เก็บกักนํ้าสำหรับทำการเกษตร คาดว่าจะช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร จำนวน 4.4 หมื่นราย เพิ่มการจ้างงานเกษตร จำนวน 8,010 ราย มีพื้นที่กักเก็บนํ้าสำหรับทำการเกษตรในฤดูแล้งเพิ่มขึ้น

                2. โครงการพัฒนาพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิตตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุกต์สู่ “โคก หนอง นา โมเดล” ของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย วงเงิน 4,700 ล้านบาท โดยจะพัฒนาพื้นที่เรียนรู้ชุมชน ฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่น และชุมชนผ่านการสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร แรงงาน บัณฑิตจบใหม่ กลุ่มแรงงานที่อพยพกลับท้องถิ่น ซึ่งคาดว่าจะช่วยเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรและประชาชน 2.51 หมื่นครัวเรือน เพิ่มการจ้างงานเกษตรกร 6,490 ราย เพิ่มพื้นที่ปลูกป่าไม่น้อยกว่า 2.57 หมื่นไร่

                       3. โครงการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) ของกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ วงเงิน 169.88 ล้านบาท โดยจะฝึกอบรมสมาชิกศูนย์จัดการดินปุ๋ยชุมชน ให้มีองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรมในการตรวจวิเคราะห์ดินและใช้ปุ๋ย รวมทั้งขยายผลไปยังพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ โดยคาดว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยเพิ่มการจ้างงานในธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน ประมาณ 2.36 พันคน ลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีในพืชเศรษฐกิจต่างๆ ไม่น้อยกว่า 20% หรือประมาณ 1.8 หมื่นตัน คิดเป็นวงเงิน 253 ล้านบาท

                   4. โครงการพื้นที่ท่องเที่ยวปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว (Safety Zone) ของกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา วงเงิน 15 ล้านบาท นำมาสร้างต้นแบบพื้นที่ท่องเที่ยวให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับนักท่องเที่ยว 5 พื้นที่ ได้แก่ ย่านเมืองเก่าน่าน หาดบางแสนชลบุรี เอเชียทีค ชุมชนบ้านไร่กองขิง เชียงใหม่ และเยาวราช รวมถึงฝึกอบรมเรื่องความปลอดภัยและสุขอนามัยให้ผู้ประกอบการและร้านค้าต่างๆ

             5. โครงการพัฒนาศักยภาพแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้ด้านสัตว์ป่าของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วงเงิน 741.58 ล้านบาท โดยจะทำการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวกให้ได้มาตรฐาน การจ้างงานในชุมชนท้องถิ่นรอบพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่า 1,250 คน เพื่อให้ความรู้ในแหล่งท่องเที่ยว พัฒนามาตรฐานกิจกรรมดูนก และเดินป่าในพื้นที่อนุรักษ์สัตว์ป่า คาดว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยยกระดับแหล่งท่องเที่ยวเชิงคุณภาพเพื่อการเรียนรู้ด้านสัตว์ป่า ทำให้เกิดการจ้างงานและสร้างรายได้ให้กับชุมชนท้องถิ่นโดยรอบ เช่น ผู้ให้บริการด้านการท่องเที่ยว (มัคคุเทศก์) จำนวน 1,250 คน ผู้ประกอบการก่อสร้างในท้องถิ่น จำนวน 125 ราย อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในรายละอียด โครงการที่เสนอขอใช้เงินกู้ กรอบการพิจารณาโครงการ รวมไปถึงโครงการที่ผ่านการพิจารณาในรอบแรก อาจกล่าวได้ว่า 5 โครงการที่ได้รับการอนุมัติจากครม.นั้น เป็นเพียงโครงการนำร่อง จากโครงการที่ผ่านการพิจารณาในรอบที่ 1 ณ วันที่ 8 กรกฎาคม 2563 จำนวน 196 โครงการ กรอบวงเงินเบื้องต้นประมาณ 94,069 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 แผนงาน ได้แก่

                  1.แผนงานที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้มแข็งเศรษฐกิจฐานราก 111 โครงการ วงเงิน 51,328.68 ล้านบาท

                 2.แผนงานสร้างความเจริญเติบโตอย่างยั่งยืน 83 โครงการ วงเงิน 20,340.43 ล้านบาท

                3.แผนงานกระตุ้นอุปโภค บริโภค และกระตุ้นการท่องเที่ยว 2 โครงการ วงเงิน 22,400 ล้านบาท

                   ตามกรอบแนวคิดในการอนุมัติการใช้เงินกู้ 4 แสนล้านบาท เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ จะยึดการดำเนินการในระดับพื้นที่ (Area Based) เป็นหลัก และเน้นการฟื้นฟูและสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด โดยให้ความสำคัญต่อสาขาเศรษฐกิจของประเทศที่ยังคงมีความได้เปรียบและต่างประเทศยังมีความต้องการเน้นกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการสร้างงานและสร้างอาชีพ สามารถรองรับแรงงานส่วนเกินที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชน เน้นการบูรณาการระหว่างหน่วยงานทั้งในด้านกำลังคน แผนงานโครงการและการลงทุน รวมถึงเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในพื้นที่และภาคส่วนอื่นๆ

                    หลังจากนี้ต้องคงต้องร่วมกันติดตามตรวจสอบว่าโครงการต่างๆ ที่ได้รับการอนุมัติใช้เงินกู้จะเป็นไปตามกรอบที่กำหนดไว้ และที่สำคัญคือการใช้เงินกู้ต้องมีความโปร่งใส ไร้การทุจริต หากท่านใดพบเห็นความไม่โปร่งใส่ในการใช้เงินกู้ สามารถร้องเรียนได้ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (สำนักงาน ป.ป.ท.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เปิดช่องทางการตรวจสอบและร้องเรียนความไม่โปร่งใสการใช้จ่ายเงินกู้ผ่านเว็บไซต์ ป.ป.ท. ที่เมนู “ตรวจสอบเงินกู้สู้โควิด”

เอกสารดาวน์โหลด